สทศ.เล็งเพิ่มตัวเลือก-ดัดนิสัยเดาทิ้งดิ่ง
มติชน 21 สิงหาคม 2552.
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นายชาญวิทย์ เทียมบุญประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า แบบทดสอบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT เป็นข้อสอบที่วัดสมรถนะความถนัดพื้นฐานทั่วไปของนักเรียนที่เก็บสะสมตั้งแต่เด็กจนถึง ม.6 เป็นความรู้ทั่วๆ ไปที่เติบโตขยายผลเมื่อเข้าสู่การเรียนในระดับปริญญาตรี แต่ข้อสอบ GAT ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกวัดเพียง 2 ส่วน คือ ความสามารถในการใช้ภาษาไทย การคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล และการแก้ปัญหาโจทย์ และภาษาอังกฤษ ตนเคยเสนอที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ถึงการออกข้อสอบ GAT ของ สทศ.ซึ่งไม่ถูกต้องนัก เพราะไม่มีข้อสอบที่วัดการคิดคำนวณเชิงตัวเลข หรือเชิงปริมาณ การวัดในส่วนนี้จำเป็น แต่ไม่ควรอิงกับหลักวิชาคณิตศาสตร์ในชั้นเรียน และไม่ควรวัดในเชิงคณิตศาสตร์ชั้นสูง นอกจากนี้ การให้น้ำหนัก GAT 50% มากเกินไป ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยเสียเปรียบเด็กในเมืองใหญ่ๆ จึงอยากเสนอให้เพิ่มข้อสอบที่วัดการคิดคำนวณเชิงตัวเลข และปริมาณ และแบ่งคะแนนเป็น 3 ส่วน โดยวัดความสามารถในการใช้ภาษาไทย และการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล 1 ส่วน ภาษาอังกฤษ 1 ส่วน และการคิดคำนวณเชิงตัวเลขหรือเชิงปริมาณอีก 1 ส่วนนายชาญวิทย์กล่าวว่า แบบทดสอบวัดความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือ PAT เป็นข้อสอบที่ยาก มีเป้าหมายวัดความสามารถเฉพาะทางของนักเรียน ที่ต้องการเรียนในสาขาเฉพาะทาง แต่ข้อสอบต้องไม่ลงลึกในเนื้อหาวิชาการ เพราะหากวัดในลักษณะนั้นเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งผิดเป้าหมายการออกข้อสอบ PAT ยอมรับว่าผู้ที่ออกข้อสอบ PAT มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ มาก แต่อาจบกพร่องในการวัดผลและประเมินผล ทำให้ออกข้อสอบวัดความรู้ทางวิชาการชั้นสูงในวิชาเฉพาะมากเกินไป เด็กจึงบ่นว่าข้อสอบ PAT ยากมาก อยากบอก สทศ.ว่าถ้าเปลี่ยนแปลงการออกข้อสอบ GAT และ PAT ให้มีเป้าหมายมองให้รอบด้าน และเป็นไปตามปรัชญาการวัดและประเมินผลจริงๆ จะทำให้ลดปัญหาการกวดวิชาลงได้ เพราะไม่มีเนื้อหาให้ต้องกวดวิชา อีกทั้ง เมื่อข้อสอบยาก ทำให้เด็กเบื่อหน่าย และหนีไปสอบรับตรงมากขึ้น
นางอุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการ สทศ.กล่าวว่า จะปรับแบบทดสอบ GAT และ PAT ครั้งที่ 3 เดือนตุลาคม 2552 เพื่อลดการเดาข้อสอบแบบทิ้งดิ่ง ซึ่งมีโอกาสให้เดาถูก 25% โดย สทศ.จะเพิ่มตัวเลือกคำตอบมากกว่า 4 ตัวเลือก ส่งผลให้โอกาสเดาถูกลดลง นอกจากนี้ จะเพิ่มเนื้อหาการคิดวิเคราะห์มากขึ้น หมายความว่าเด็กต้องอ่านจนครบจึงได้คำตอบ ส่วนการให้คะแนนติดลบในวิชา GAT1 การคิดวิเคราะห์นั้น ข้อสอบวิชานี้เด็กต้องอ่าน และวิเคราะห์ก่อนจึงค่อยตอบ และคำตอบมีหลายตัวเลือก ที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่ตั้งใจทำข้อสอบคิดวิเคราะห์ได้ กลับคะแนนน้อยกว่าเด็กที่เลือกคำตอบแบบทิ้งดิ่ง อีกทั้ง สทศ.ต้องการวัดคุณภาพของเด็ก ไม่ใช่วัดความสามารถในการเดา เพราะต้องการให้เด็กคิดวิเคราะห์ได้เมื่อจบ จึงต้องให้คะแนนติดลบต่อไป อย่างไรก็ตาม จากนี้จะวิจัยว่าการให้คะแนนติดลบมีผลดีหรือผลเสีย หากพบว่ามีผลดี จะขยายให้มีคะแนนติดลบเพิ่มขึ้นในหลายๆ วิชา ถ้ามีผลเสียก็จะลดลงที่ผ่านมา สทศ.ได้ลองให้นักศึกษาปี 2 ในมหาวิทยาลัยทำข้อสอบ GAT และ PAT วิทยาศาสตร์ ความถนัดทางวิชาชีพครู คณิตศาสตร์ พบว่านักศึกษาทำคะแนนได้สูงกว่า ม.6 ถึง 2-3 เท่า สะท้อนตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดสอบที่ต้องการวัดความรู้เพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ต่อไป สทศ.จะลองให้นักศึกษาปี 2 สอบครบทุกวิชา เพื่อวิเคราะห์ และนำเสนอ ทปอ." นางอุทุมพรกล่าว
รอฟังข่าวกันอีกต่อไปนะจร๊ะเพื่อนๆๆ