วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552

สุริยุปราคา


วันจันทร์ที่ 26 มกราคม 2552 ซึ่งตรงกับวันตรุษจีนและเป็นวันเดือนดับ ดวงจันทร์เคลื่อนมาอยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน อันเนื่องมาจากวันนั้นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ ประเทศไทยสามารถสังเกตสุริยุปราคาครั้งนี้ได้ในช่วงเวลาบ่ายถึงเย็น โดยดวงจันทร์บดบังเพียงบางส่วนของดวงอาทิตย์
เส้นทางสุริยุปราคาวงแหวนครั้งนี้ส่วนใหญ่อยู่ในทะเล เงามืดของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสผิวโลกเวลา 13.06 น. (เวลาประเทศไทย) ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 5 นาที 44 วินาที ขณะดวงอาทิตย์ขึ้น จากนั้นเงามืดเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย จุดที่เห็นสุริยุปราคาวงแหวนนานที่สุดอยู่ในมหาสมุทรด้วยระยะเวลานาน 7 นาที 56 วินาที
เงามืดเคลื่อนต่อไป ผ่านหมู่เกาะคอคอสในมหาสมุทรอินเดีย เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กในเครือรัฐออสเตรเลีย และถึงทางใต้ของเกาะสุมาตรากับด้านตะวันตกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ในเวลาประมาณ 16.37 น. กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย อยู่นอกเขตสุริยุปราคาวงแหวนโดยห่างลงไปทางใต้ของเส้นทางสุริยุปราคาวงแหวน
เงามืดเคลื่อนต่อไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านช่องแคบกะริมาตา พาดผ่านเกาะบอร์เนียวกับบางส่วนทางตอนเหนือของเกาะเซลีเบส สุริยุปราคาวงแหวนสิ้นสุดในเวลา 16.52 น. เป็นจังหวะที่ศูนย์กลางเงาหลุดออกจากผิวโลกในทะเลเซลีเบส ตรงบริเวณกึ่งกลางระหว่างเกาะเซลีเบสของอินโดนีเซียกับเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 5 นาที 40 วินาที ขณะดวงอาทิตย์ตก

บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครอบคลุมทางใต้ของทวีปแอฟริกา มาดากัสการ์ บางส่วนของแอนตาร์กติกา ตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย (ยกเว้นแทสเมเนีย) รวมไปถึงบางส่วนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่
ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถเห็นสุริยุปราคาครั้งนี้ได้โดยต้องใช้แผ่นกรองแสงเพื่อป้องกันอันตรายจากแสงอาทิตย์ หรือสังเกตการณ์ทางอ้อม เช่น ดูภาพสะท้อนบนผนังผ่านกระจกที่ทำหน้าที่คล้ายกล้องรูเข็ม ดวงจันทร์เริ่มบังดวงอาทิตย์ในช่วงที่ดวงอาทิตย์อยู่สูงประมาณ 30-40 องศา และดำเนินไปจนกระทั่งดวงอาทิตย์ใกล้ตกลับขอบฟ้า ภาคใต้ตอนล่างเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งตรงข้ามกับสุริยุปราคาเมื่อเดือนสิงหาคม 2551 ที่เงามืดพาดผ่านเหนือประเทศไทยขึ้นไป เวลาที่เกิดปรากฏการณ์ก็จะแตกต่างกันไป โดยเฉลี่ยเริ่มเวลาประมาณ 16.00 น. และสิ้นสุดในเวลาประมาณ 18.00 น. ขณะบังเต็มที่ในเวลาประมาณ 17.00 น. โดยจะเห็นดวงอาทิตย์แหว่งทางซ้ายมือค่อนไปทางด้านบน หลายจังหวัดทางด้านตะวันออกของภาคอีสาน จะยังคงเห็นดวงอาทิตย์แหว่งอยู่เล็กน้อยในจังหวะที่ดวงอาทิตย์
ตกดิน

ไม่มีความคิดเห็น: