วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ (พระนเรศวรมหาราช) มีพระนามเดิมว่าพระองค์ดำพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) พระองค์เสด็จพระบรมราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๘ ที่เมืองพิษณุโลกทรงมีพระเชษฐภคิณีคือ พระสุพรรณกัลยา ทรงมีพระอนุชาคือ สมเด็จพระเอกาทศรถ (องค์ขาว) และทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับ เช่น พระนเรศ วรราชาธิราช, พระนเรสส, องค์ดำ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพระนาม นเรศวรได้มาจากที่ใด สันนิษฐานเบื้องต้นว่า เพี้ยนมาจาก สมเด็จพระนเรศ วรราชาธิราช มาเป็น สมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราช เสด็จขึ้นครองราชเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ รวมสิริดำรงราชสมบัติ ๑๕ ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ รวมพระชนมพรรษา ๕๐ พรรษา
ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่ง
มหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทยใหญ่บางรัฐ
พระองค์ได้ทำสงครามเข้าไปในประเทศที่เป็นข้าศึกของไทย ในทุกทิศทาง จนประเทศไทยอยู่เป็นปกติสุขปราศจากศึกสงคราม เป็นระยะเวลายาวนาน พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งสิ้นทั้งปวงของพระองค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและคนไทยทั้งมวล ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จะอยู่ในสนามรบและชนบทโดยตลอด มิได้ว่างเว้น แม้แต่เมื่อเสด็จสวรรคต ก็เสด็จสวรรคตในระหว่างเดินทัพไปปราบศัตรูของชาติไทย นับว่าพระองค์ได้ทรงสละพระองค์ เพื่อชาติบ้านเมืองโดยสิ้นเชิง สมควรที่ชาวไทยรุ่นหลังต่อมา ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และจดจำวีรกรรมของพระองค์ เทิดทูนไว้เหนือเกล้า ฯ ไปตราบชั่วกาลนาน

นับตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพเป็นต้นมา หงสาวดีได้เพียรส่งกองทัพเข้ามาหลายครั้ง แต่ก็ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาตีแตกพ่ายไปทุกครั้ง เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๓ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวร หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ และโปรดเกล้า ฯ ให้พระเอกาทศรถ พระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์
ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากหงสาวดี และได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าครั้งใดในอดีตที่ผ่านมา งานสงครามในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งในดินแดนไทยและดินแดนข้าศึก ได้ชัยชนะทุกครั้ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำทัพ ทรงริเริ่มนำยุทธวิธีแบบใหม่มาใช้ในการทำสงคราม และเปลี่ยนแนวความคิดจากการตั้งรับมาเป็นการรุก และริเริ่มการใช้วิธีรบนอกแบบ
การสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมารุกรานไทยอีกเลย เป็นเวลาเกือบสองร้อยปีคือ สงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕ นั่นคือเมื่อหงสาวดีนำโดยพระมหาอุปราชามังสามเกียดยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง สมเด็จพระนเรศวรก็นำทัพออกไปจนปะทะกันที่หนองสาหร่าย จังหวัด
สุพรรณบุรี บ้างก็ว่าจังหวัดกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนกระทั่งสามารถเอาพระแสงง้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้างนั่นเอง วันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนี้ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็นวันยุทธหัตถี เป็นวันรัฐพิธี

สวรรคต
พ.ศ. ๒๑๓๗ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงก็ให้พระเจ้าแปรมาตีกรุงศรีอยุธยาแต่ก็แตกทัพกลับไป พ.ศ. ๒๑๔๒ เสด็จฯออกไปตีกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีหนีไปเมืองตองอู กองทัพอยุธยาตามไปถึงเมืองตองอูแต่ขาดเสบียง พ.ศ. ๒๑๔๗ ยกกองทัพหลวง ๑๐๐,๐๐๐ นายออกจากกรุงศรีอยุธยาไปตีกรุงอังวะ ผ่านทางเมืองเชียงใหม่ โดยแรมทัพอยู่ที่เมืองเชียงใหม่เป็นเวลา ๑ เดือน ระดมทหารในดินแดนล้านนาสมทบอีก ๑๐๐,๐๐๐ นาย และทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเอกาทศรถเป็นทัพหน้าออกเดินทางไปรับไพร่พลทหารล้านนาที่เมืองฝาง (อำเภอฝาง เชียงใหม่) หลังจากนั้นกองทัพหลวงจึงกรีฑาทัพออกจากเมืองเชียงใหม่ไปยัง เมืองนายและกรุงอังวะ ครั้นกองทัพหลวงเดินทัพอยู่ระหว่างเมืองเชียงใหม่กับแม่น้ำสาละวิน ครั้นถึง เมืองหลวง หรือเมืองห้างหลวง หรือเมืองห่างหลวง หรือเมืองหางหลวง อันเป็นเมืองขึ้นของเมืองเชียงใหม่และเป็นเมืองอยู่ชายพระราชอาณาเขตในสมัยนั้น เมื่อปลายเดือน ๕ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๔๘ ได้เสด็จฯ ประทับแรมอยู่ ณ ตำบลทุ่งดอนแก้ว (ขณะที่กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถอยู่ที่เมืองฝางหรืออำเภอฝาง เชียงใหม่) เกิดประชวรเป็นหัวละลอกขึ้น (บ้างว่าถูกตัวสัตว์พวกแมลงมีพิษต่อย) ที่พระพักตร์แล้วเลยเป็นบาดพิษจนเสด็จสวรรคต ณ เมืองห้างหลวง หรือ เมืองหางวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๑๔๘ เรื่องวันสวรรคตนี้มีรายละเอียดกล่าวต่างกัน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า เสด็จสวรรคตวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ เพลาชายแล้ว ๒ บาท ปีมะเส็ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์คำนวณแล้วตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๕ เมษายน ๒๑๔๘ ในหนังสือ A History of Siam ของ W.A.R. Wood กล่าวว่าสวรรคตวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๐๕ (พ.ศ. ๒๑๔๘) พระชันษาได้ ๕๐ ปี เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี..วันสวรรคตนี้ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้วันที่ ๒๕ เมษายน ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นวันรัฐพิธี

ไม่มีความคิดเห็น: